top of page

ภาพประกอบของจิตสำนึก

nun_edited.png

Supanun Nararatwong

ศุภานัน นรารัตน์วงศ์

Nippon girl

sss.jpg

Lalinthorn Pencharoen, C.5 Mr.B(l)adder, 2013, Ink on paper

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามนุษย์มีวิวัฒนาการทางความคิดในการตั้งคำถามต่อธรรมชาติ และค้นคว้าหาคำตอบจากสิ่งรอบตัวมาโดยตลอด เมื่อมนุษย์เริ่มทำการสำรวจ และพยายามเข้าใจโลกที่พวกเขาเห็น ก็เริ่มมีการจดบันทึกความรู้ที่ศึกษาไว้ในรูปแบบต่างๆ นับตั้งแต่บันทึกของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์  ซึ่งปรากฏเป็นภาพเขียนตามผนังถ้ำ ที่มีรายละเอียดมากมาย จนทำให้เราสามารถจำแนกสายพันธุ์ของพืชและสัตว์หลายชนิดได้ในปัจจุบัน

ในศตวรรษที่ 1 Pedanius Dioscorides ได้รวบรวม De Materia Medica ซึ่งเป็นกลุ่มของข้อมูลยาและสูตรอาหาร  จนกระทั่งในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ  ศิลปิน และนักวิทยาศาสตร์ Leonardo Da Vinci ได้บันทึกการศึกษาร่างกายมนุษย์ และพืช รวมไปถึงการบินของนก จนกระทั่งในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 นายแพทย์ Andreas Vesalius ได้รวบรวมและตีพิมพ์ De humani corporis fabrica ซึ่งเป็นหนังสือเรียนเกี่ยวกับกายวิภาคของมนุษย์ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของภาพประกอบทางวิทยาศาสตร์

ssss.png

De Humani Corporis Fabrica (On the Fabric of the Human Body; facsimile of 1543 edition)

ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 1600 นักสำรวจชาวฝรั่งเศส Étienne de Flacourt ได้เดินทางไปยังมาดากัสการ์ และทำการจดบันทึกสัตว์ป่าซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้น  เพื่อให้ง่ายต่อการค้นคว้าสำหรับนักสำรวจในอนาคต และบุคคลสำคัญที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ Ernst Haeckel นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันผู้เขียนหนังสือภาพประกอบเชิงชีววิทยาของดอกไม้ทะเลหลากหลายชนิด ที่จัดอยู่ใน Actiniae ในช่วง 5 ปีของการเดินทางของชาร์ลส์  ดาร์วิน ซึ่งได้จดบันทึกการเดินทางของเขา ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2382 ในหนังสือที่มีชื่อว่า Kunstformen der Natur ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการจดบันทึกชีววิทยาเป็นหนังสือภาพประกอบมาจนถึงทุกวันนี้

sssss.png

Ernst Haeckel,Kunstformen der Natur

ความหมายของภาพประกอบทางชีววิทยา (Biological illustration) คือการใช้ภาพประกอบทางเทคนิคเพื่อสื่อสารโครงสร้างและรายละเอียดเฉพาะของชีววิทยา จากการศึกษาค้นคว้าโดยการแสดงกายวิภาคศาสตร์ที่ทำหน้าที่อธิบายภาพประกอบทางชีววิทยา  สามารถพบได้ในหนังสือทางประวัติศาสตร์กายวิภาคศาสตร์  คู่มือธรรมชาติ  พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ  นิตยสารวิทยาศาสตร์  วารสารพฤกษศาสตร์ สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ  คู่มือการผ่าตัด  และหนังสือทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย การพัฒนาทักษะในภาพประกอบทางชีววิทยาอาจเกี่ยวข้องกับงานศิลปะสองมิติ ภาพเคลื่อนไหว การออกแบบกราฟิก และงานประติมากรรม  จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจเมื่อศิลปินเลือกที่จะหยิบยืมภาพลักษณ์ในการจดบันทึกในรูปแบบภาพประกอบทางชีววิทยามาเล่าเรื่องราวทางสังคมในปัจจุบัน

sss.jpg

Lalinthorn Pencharoen, C.5 Mr.B(l)adder, 2013, Ink on paper

ลลินธร  เพ็ญเจริญ ศิลปินที่ใช้กระบวนการทำงานทางวิทยาศาสตร์ มาสร้างสรรค์ใหม่ในบริบทของการบอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์และเรื่องราวทางสังคมได้อย่างแยบยล จากการเรียนรู้ลักษณะทางกายภาพของพืชที่มีการปรับตัว เปรียบเทียบกับการเรียนรู้พฤติกรรมในการมีชีวิตรอดของมนุษย์ในสังคม เพื่อสื่อสารแง่คิดความหมายที่ต้องการบอกกล่าวแก่สังคม มาจัดวางองค์ประกอบอยู่ในรูปทรงสองมิติของมนุษย์ พืช และสัตว์ ดังเช่นในผลงาน SINNERMAN ที่มีการหยิบยืมภาพเสมือนของกายวิภาคมนุษย์  โดยมีพืชมาแทนที่รูปทรงของศีรษะมนุษย์ พืชชนิดนี้เป็นพืชจำพวกกินแมลง สื่อความหมายดั่งถ้อยคำผรุสวาทวาจาที่กล่าวถึงเรื่องเพศ สืบเนื่องไปถึงผลงานชุด FLORA AND MARA, 2014 เป็นผลงานวาดเส้นที่หยิบยืมภาพลักษณ์ของพืชจำพวกกินแมลง และแสดงถึงกระบวนการศึกษาโครงสร้างของพืชจำพวกกินแมลงเช่นเดียวกัน

ลักษณะเฉพาะของพืชชนิดนี้มีความโดดเด่นที่ลักษณะกายภาพที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม  ซึ่งเป็นการปรับตัวทางกลไกชีววิทยา เพื่อหลอกล่อเหยื่อให้เข้ามาติดกับดัก ด้วยการปรับรูปลักษณ์ให้มีรูปร่าง สีสันที่สวยงาม เพื่อดึงดูดแมลง และสัตว์ขนาดเล็กให้มาติดกับดัก กลายเป็นอาหาร เปรียบเสมือนการดำรงอยู่ของมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน ที่ปรุงแต่งภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์ภายนอก เพื่อดึงดูดความสนใจจากคนรอบข้าง เพื่อผลประโยชน์ และการเอาตัวรอดในสังคม ไม่ต่างกับพืชกินแมลงที่ดึงดูดเหยื่อ  นี่จึงเปรียบเสมือนคำบอกกล่าว และเสียดสีถึงภาพลักษณ์ภายนอกทางสังคมของคนในปัจจุบันที่ยึดติดกับกายภาพ รวมไปถึงเรื่องเพศสภาวะ แรงดึงดูดทางเพศที่หลอกล่อแมลง หรือเปรียบได้กับการล่อลวงทางเพศเช่นกัน

นอกจากนี้การศึกษาธรรมชาติของแมลงยังได้ถูกนำมาร้อยเรียงเป็นผลงานนิทรรศการ “นิทานแผดเสียง กรีดเสียง และซีซเสียง” ซึ่งศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจากการศึกษาสัตว์ที่มีการส่งเสียงที่แตกต่างกัน และหยิบยืมเรื่องราวในนิทานมาต่อยอดกับจินตนาการ จากนิทานสองเรื่องคือ “จิ้งหรีดกับมด” และ “จิ้งหรีดกับลา” มาสังเคราะห์รวมกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในลักษณะจัดวางเชิงชีววิทยา (Biological installation) เพื่อสะท้อนพฤติกรรมมนุษย์หลากหลายประเภทที่อยู่ร่วมกันในสังคมปัจจุบัน

ssssss.jpg
s7.jpg

การจัดวางในรูปแบบของ Bio Art หรือ Biological installation เป็นรูปแบบศิลปะร่วมสมัยที่ปรับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ มารวมกับขอบเขตทางศิลปะ โดยมีบทบาทสำคัญในบริบทการเล่าเรื่องทางสังคม ปรัชญา และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ และการค้นคว้าวิจัย เทคโนโลยีสมัยใหม่ แนวคิดนี้จึงมีผลกับการปรับเปลี่ยนระบบชีวิตในยุคสมัยใหม่ค่อนข้างมาก

จากประวัติศาสตร์ของการทำภาพประกอบทางชีววิทยาจะเห็นได้ว่า มนุษย์อยู่กับการสงสัยใคร่รู้มาโดยตลอด จากความสงสัยใคร่รู้นำไปสู่การศึกษาค้นคว้ากายวิภาคทางชีววิทยาของพืช คน และสัตว์ รวมไปถึงการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งเป็นจุดบรรจบระหว่างกระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และการทำงานศิลปะเข้าไว้ด้วยกัน  สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากผลงานงานเหล่านี้คือ มุมมองความสนใจของศิลปินในการศึกษาธรรมชาติของพืช สัตว์ และมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความสลับซับซ้อนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความสลับซับซ้อนทางกายภาพ หรือสภาพจิตใจ  ซึ่งจากเสียงบอกเล่าของศิลปินผ่านผลงานของเธอ เสมือนกำลังบอกกล่าวแก่ทุกคนถึงสภาวะปัญหาของสังคมอันเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อให้ผู้ชมได้ตระหนักคิด และย้อนสำรวจตนว่ามีพฤติกรรมเฉกเช่นพืชหรือสัตว์ชนิดใด

© 2018 by ART THEORY SILPAKORN UNIVERSITY

Tel: 034-271379 | Fax: 

bottom of page