ภาควิชาทฤษฎีศิลป์
คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์
จากความจริงทางวิทยาศาสตร์สู่ความงามทางศิลปะ

Nuttakun Tongchua
ณัฐกุล ทองเชื้อ
ช่างสักเฟี้ยวฟ้าว

Lalinthorn Phencharoen, C.25 : Female traps, 2013,
Ink on paper, Size : 76 x 56 cm.
การศึกษาผลงานที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่าและความพิเศษด้านต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เนื่องจากผลงานเหล่านี้มักสร้างแรงบันดาลใจต่อการสร้างสรรค์ และให้อิทธิพลทั้งความคิดและรูปแบบต่อผู้สร้างสรรค์ โดยการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์จากต้นแบบ แล้วปรับเข้ากับการสร้างสรรค์เฉพาะตน แตกขยายความคิด และก่อให้เกิดลักษณะใหม่ต่อไป เราเรียกศิลปะประเภทนี้ว่า ศิลปะแห่งการหยิบยืม (appropriation art)
นอกเหนือจากการหยิบยืมภาพลักษณ์ผลงานจิตรกรรมชื่อดังในอดีต เช่น การนำภาพโมนา ลิซา (Mona Lisa) ของลีโอนาโด ดา วินชี (Leonardo da vinci) มาใส่หนวด หรือมาปรับเปลี่ยนให้อยู่ในท่าทางอื่น แต่เจตนาให้ผู้ชมรู้ว่านั่นคือภาพโมนา ลิซ่าแล้ว การหยิบยืมยังสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ เช่น ผลงานของ ลลินธร เพ็ญเจริญ ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเชิงแนวคิด ซึ่งได้หยิบยืมภาพลักษณ์ภาพประกอบทางวิทยาศาสตร์สมัยยุคเรอเนซองค์มาสร้างสรรค์ใหม่ โดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าสมองสองส่วนในร่างกายทำงานแตกต่างกัน สมองซีกซ้ายเป็นเรื่องของการคิดคำนวณ ภาษา การอ่าน หรือที่เราเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าความเป็นเหตุเป็นผล ส่วนซีกขวาเป็นเรื่องของการใช้จินตนาการและความจำ ศิลปินนำกระบวนการสองสิ่งนี้มารวมกัน และนำเสนอออกมาเป็นผลงานศิลปะ โดยใช้รูปทรงพืชผสมผสานกับรูปทรงอวัยวะเพศของมนุษย์ และมุ่งเน้นเนื้อหาไปที่การวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมเชิงลบของมนุษย์ในสังคม
โดยศิลปินมีแนวคิดว่ารูปลักษณ์ภายนอกของบุคคลกลายเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งของการดำรงชีวิตที่อยู่ภายใต้กิเลส เช่น การแสวงหาสิ่งที่เกินตัวตามกระแสสังคม เช่นเดียวกับพืชกินสัตว์ (Carnivorous Plants) ที่มีรูปลักษณ์สวยงามเพื่อดักแมลง เป็นกลไกที่ธรรมชาติสร้างขึ้น เพื่อหลอกล่อให้เหยื่อเข้ามาติดกับ และกลายเป็นอาหาร การเปรียบเทียบพฤติกรรมข้างต้นนั้นถูกนำมาบันทึกไว้ ด้วยการวาดเส้นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปิน โดยผสมผสานรูปทรงพืชกินสัตว์กับอวัยวะเพศให้กลายเป็นพืชสายพันธุ์ใหม่ในจินตนาการของศิลปิน จะเห็นได้ว่าศิลปินศึกษาลักษณะของพืช อีกทั้งยังลงลึกในรายละเอียดของพืชชนิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการทำงานของพืช หรือลักษณะทางกายภาพ แล้วจึงผสานความคิดจินตนาการเข้าด้วยกันอย่างมีเหตุผล
จากกระบวนการทำงานของศิลปินที่มีการหยิบยืมภาพลักษณ์จากภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ในยุคเรอเนซองค์มาใช้นั้น เนื่องมาจากว่ายุคเรอเนซองค์นั้นเป็นยุคแห่งการเกิดใหม่ของการศึกษา ฟื้นฟูศิลปวิทยาของกรีก และโรมัน เป็นยุคเริ่มต้นของการแสวงหาสิทธิเสรีภาพ และความคิดอันไร้ขอบเขตของมนุษย์ ที่เคยถูกจำกัดโดยกฎเกณฑ์ และข้อบังคับของคริสต์ศาสนา และเป็นยุคของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์ในช่วงเวลานั้น เป็นความสมัยใหม่ของยุคโบราณ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์นับตั้งแต่นั้น ลลินธรมีความสนใจในความสัมพันธ์ของสองสิ่งนี้ เเละต้องการที่จะสร้างผลงานศิลปะ ซึ่งมีความเด่นชัดในการนำเสนอข้อมูลความจริง แต่ก็ไม่ละทิ้งความสำคัญของจินตนาการ และความงามทางสายตา
ผลงานของศิลปินจึงเป็นศิลปะร่วมสมัยที่ให้แง่คิด และความเพลิดเพลินไปพร้อมกัน จากรูปทรงและเนื้อหาที่ศิลปินอ้างอิง ซึ่งล้วนเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการบรรจบกันระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ เชื่อมโยงระหว่างความเป็นเหตุผล และจินตนาการเข้าด้วยกัน เมื่อสายตาปะทะกับผลงานครั้งแรก อาจเห็นเป็นเพียงภาพประกอบทางพฤกษศาสตร์ทั่วไป แต่เมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียดของผลงานแล้ว ก็จะเห็นถึงการจัดการรูปทรง องค์ประกอบ ด้วยการดัดแปลงรูปทรงพืชพรรณเหล่านั้น ให้กลายเป็นรูปทรงอวัยวะเพศชายหรือเพศหญิง และเมื่อผู้ชมอ่านชื่อผลงาน จินตนาการก็จะถูกเสริมเข้าไปให้รับรู้ถึงเนื้อหาที่แทรกอยู่ในผลงานนั้น
รูปแบบของผลงานมักเป็นการวาดเส้นที่อ้างอิงมาจากหลายแหล่งด้วยกัน เช่น ผลงานของโรเบิร์ต จอห์น ทรอนตัน (Robert John Thornton) เอิร์นสต์ แฮคเคล (Ernst Haeckel) อีกทั้งศิลปินยังหยิบยืมวิธีการเขียนคำอธิบายภาพประกอบมาใช้ เพื่อเสริมสร้างการหยิบยืมภาพลักษณ์ภาพประกอบทางวิทยาศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์ ทำให้ผลงานดูมีความจริงจัง และมีความน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังเห็นถึงกระบวนการทำงานของศิลปิน ในการศึกษารูปทรง และองค์ประกอบจากต้นแบบ และยังศึกษาการจัดแสดงภาพวิทยาศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

เปรียบเทียบผลงาน “C.26” กับภาพต้นฉบับหม้อข้าวหม้อแกงลิง ของเอิร์นสต์ แฮคเคล ปี ค.ศ.1904

เปรียบเทียบผลงาน “C.25” กับภาพต้นฉบับหม้อข้าวหม้อแกงลิงของจี.เบค ปี ค.ศ. 1895

เปรียบเทียบผลงาน “C.27” กับภาพต้นฉบับกาบหอยแครงของจอห์น ลินด์เลย์ ปี ค.ศ. 1848
ศิลปินลดความรุนแรงของเนื้อหาในภาพ ด้วยลักษณะของภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ที่เคลือบแฝงด้วยความสวยงาม ซุกซ่อนจินตนาการที่นำไปสู่ความอีโรติก(Erotic) และความแสบสันของการเปรียบเปรย เป็นการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมเชิงลบของมนุษย์ในสังคม ด้วยมุมมองที่เป็นศิลปะ ช่วยกระตุ้นความคิดให้ผู้ชมตระหนักถึงสิ่งที่ศิลปินต้องการนำเสนอ ถึงแม้ปัจจุบันนี้รูปแบบของผลงานศิลปะจะก้าวไปไกล จนเหลือแค่การแสดงแก่นความคิด แต่การไม่ละทิ้งสุนทรียภาพความงามทางสายตาก็ยังคงมีคุณค่า สามารถช่วยให้ผู้ชมทั่วไปเข้าถึงผลงานศิลปะได้ง่ายขึ้น เพราะมีความงามเป็นเครื่องดึงดูดความสนใจ และกระตุ้นให้เกิดการขบคิดถึงเรื่องราว ความหมาย และคุณค่าของผลงาน ซึ่งสามารถศึกษาและตีความได้ด้วยตนเอง