top of page

ศิลปะ . . . เสรีภาพ

ที่แท้จริง

ben.png

Kanogkan Khunwichit

กนกกาญจน์  ขุนวิจิตร์ 

เมื่อคนสมองกลวง มาลองเป็นนักทฤษฎี

b1.jpg

สุธี คุณาวิชยานนท์, ห้องเรียนประวัติศาสตร์,โต๊ะเรียน 16, พฤษภาวิปโยค 2535

ณ ประเทศแห่งหนึ่งที่ปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งควรให้เสรีภาพทางความคิด แต่กลับถูกจำกัดเรื่องการแสดงออก ขัดแย้งกับความหมายของคำว่าประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงรูปแบบการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ หรือเป็นการปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชน ยึดถือเสียงข้างมากเป็นหลัก แต่หลายครั้งที่เสียง(ค่อน)ข้างมากที่เกิดขึ้น กลับถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ผิด ก่อความวุ่นวาย จนทำให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งที่จบลงด้วยความรุนแรงเป็นประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอยวนเวียนอยู่อย่างนั้น  และเมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นจบลง ก็กลายเป็นเพียงคำบอกเล่าต่อๆ กันมาแบบไม่เป็นทางการ เนื่องด้วยถูกกลบเกลื่อน เบี่ยงเบนโดยอำนาจบางอย่าง ที่ต้องการจะตีกรอบให้กับคำว่าเสรีภาพ โดยเริ่มที่รากความคิดจากการศึกษาที่ถูกควบคุม

ในการศึกษาประวัติศาสตร์แบบทางการนั้น ผู้เรียนมักได้รับบทเรียนที่เสนอถึงความดีงามตามแบบที่ผู้ปกครองต้องการให้รับรู้ ประวัติศาสตร์การเมืองที่จบด้วยความรุนแรงไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม มักจะถูกมองผ่าน เป็นอดีตที่ถูกเลือกจำเลือกเล่า ทำให้ศิลปินร่วมสมัยอย่าง สุธี คุณาวิชยานนท์ นำเรื่องราวที่ถูกแกล้งลืมเหล่านั้นกลับมาตอกย้ำ ผ่านศิลปะหยิบยืมบนพื้นที่ทางประวัติศาสตร์การเมือง ดังเช่น ผลงานห้องเรียนประวัติศาสตร์ (ถนนราชดำเนิน) ที่นำโต๊ะนักเรียนมาแกะภาพนูนต่ำเป็นเรื่องราวทางการเมือง ที่เป็นประวัติศาสตร์ต้องห้ามของแบบเรียนทั่วไป  อ้างอิงจาก 6 เหตุการณ์ ได้แก่ กลุ่ม ร.ศ.๑๐๓ สมัยรัชกาลที่ ๕  นายเทียนวรรณ  การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕  การเมืองยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย วันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มาจนถึงพฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ นำมาจัดวางและให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ (interactive) ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นด้วยตนเอง ผ่านการใช้กระดาษวางทาบบนโต๊ะ และฝนทับด้วยดินสอ (rubbing) จะทำให้ได้ภาพพิมพ์อย่างง่ายหนึ่งชิ้น เป็นหนึ่งในบทเรียนประวัติศาสตร์ที่ผู้ชมสามารถนำกลับไปได้

สุธีเป็นศิลปินที่มีความสนใจในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทางสังคม และการเมือง และได้นำเสนอประเด็นเหล่านี้ผ่านผลงานศิลปะในหลายชิ้น โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองที่ส่งผลต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง  เช่น การหยิบยืมเรื่องราวเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความรุนแรง และยังหาข้อสรุปไม่ได้ในหลายข้อสงสัย มานำเสนอใหม่ เสมือนการตั้งคำถามขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ให้ผู้ชมได้ขบคิด  เป็นการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบหนึ่ง แต่เป็นวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง จะเห็นได้จากการแกะสลักโต๊ะไม้ด้วยถ้อยคำเชิงคำถาม บางประโยคเป็นการชักชวนให้ย้อนคิด ประกอบกับรูปภาพที่บอกเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งหาดูได้ยากในยุคสมัยนี้ เพราะไม่ได้มีการเผยแพร่อย่างเปิดเผยมากนัก ศิลปินจึงได้สร้างผลงานชุดนี้ขึ้นเพื่อเผยแพร่เรื่องราวเหล่านี้ให้ผู้คนได้รับรู้มากยิ่งขึ้น

การที่ศิลปินนำเรื่องราวทางการเมืองเหล่านี้มานำเสนอผ่านรูปแบบของห้องเรียน ก็เปรียบเสมือนการแสดงออกทางความคิดของศิลปิน ที่ไม่เห็นด้วยกับการปกปิดเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ จากการศึกษาเรียนรู้ของประชาชน  ซึ่งแม้ทางการจะพยายามให้ประชาชนยอมรับประวัติศาสตร์ในแบบของรัฐ แต่ก็ยังมีศิลปินและประชาชนมากมายที่พยายามจะนำเสนอเรื่องราวทางการเมืองต้องห้ามเหล่านี้ ในรูปแบบการแสดงออกที่แตกต่างกัน ดังเช่น กลุ่มศิลปินที่แสดงทัศนคติทางการเมืองผ่านบทเพลงแนวฮิปฮอปที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในสังคมขณะนี้ บุคคลเหล่านี้มักจะถูกอำนาจรัฐเข้ามาตรวจสอบ และมองว่าเป็นการกระทำที่มุ่งร้ายต่อบ้านเมือง ทำให้พวกเขาตกที่นั่งลำบาก และถูกตัดสินให้เป็นคนผิด เพียงแค่เพราะคิดต่าง หรือไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจเท่านั้นหรือ?

การใช้ศิลปะเป็นสื่อในการแสดงความคิดเห็น มุมมอง หรือทัศนคติที่มีต่อเรื่องราวต่างๆ ทำให้การแสดงออกนั้นดูลุ่มลึก กระตุ้นให้เกิดความคิด และการตีความที่หลากหลายตามแต่ประสบการณ์ของผู้ชม ดังเช่น กระบวนการให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับผลงาน ด้วยการฝนดินสอทับกระดาษบนโต๊ะ ที่ผู้ชมสามารถเลือกได้ตามต้องการ จะทำให้ผู้ชมได้รับข้อมูลที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกันก็คือ เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้จะไม่เลือนหายไป  แต่จะถูกรื้อฟื้นนำกลับมาทบทวน โดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรงใดๆ

b2.jpg

สุธี คุณาวิชยานนท์, ห้องเรียนประวัติศาสตร์,โต๊ะเรียน 17, พฤษภาวิปโยค 2535

ผลงานชุด “ห้องเรียนประวัติศาสตร์” ของ สุธี คุณาวิชยานนท์ จึงเปรียบเสมือนเสียงๆ หนึ่งที่ตะโกนออกมาในรูปแบบของศิลปะ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการที่ปราศจากความรุนแรง มีความสุขุมและแยบยลในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจในเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองเหล่านั้น ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญที่จะออกมานำเสนอเรื่องราวต้องห้ามในรูปแบบของการให้ความรู้ และเป็นเครื่องมือตอกย้ำว่าประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้มีแค่เพียงเรื่องที่อยู่ในตำราเรียน  แต่ยังมีเรื่องราวอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ โดยผลงานชุดนี้ไม่ได้มีข้อความ หรือคำพูดชักจูงชวนเชื่อใดๆ สุดท้ายแล้วผู้ชมเท่านั้นที่จะสามารถบอกได้ว่า ได้รับอะไรจากการชมผลงานชิ้นนี้  ซึ่งอาจได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป ไม่มีถูกหรือผิด เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะศิลปะนั้นคือเสรีภาพทางความคิดอย่างแท้จริง

© 2018 by ART THEORY SILPAKORN UNIVERSITY

Tel: 034-271379 | Fax: 

bottom of page