top of page

ห้องเรียนประวัติศาสตร์ (ซ้ำรอย ? )

eye_edited.png

Sirinat Prasertsri

ศิรินาฎ ประเสริฐศรี

อาย อาย

a2.png

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ถนนราชดำเนิน), 2543

ประวัติศาสตร์ฉบับทางการคือสิ่งที่ถูกบันทึกขึ้นภายหลังเหตุการณ์จบสิ้นลงโดยผู้มีอำนาจ  ประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่เราเรียนรู้จากในห้องเรียน หรือสื่อต่างๆ จึงมักจะถูกคัดเลือกให้เหลือเพียงเรื่องที่อยากให้รับรู้  ส่วนเรื่องราวที่ไม่สามารถเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ได้ ก็มักจะถูกปิดบัง หรือห้ามไม่ให้เผยแพร่ เสมือนการตีกรอบให้เชื่อในแบบที่ต้องการอยากให้รับรู้เท่านั้น เรื่องราวการเมืองที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเหล่านี้  จึงเปรียบเสมือนละครฉายซ้ำ หรือละครรีเมค ที่เพียงแค่เปลี่ยนตัวแสดง แต่คนเขียนบทคือกลุ่มเดิมที่มีการสืบทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่นเช่นเดียวกัน

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินร่วมสมัย สุธี คุณาวิชยานนท์ สร้างสรรค์ผลงานสะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองไทย  โดยวิเคราะห์ผ่านเหตุการณ์ซึ่งเป็นที่จดจำของประชาชน เช่น  เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การรวมตัวกันของนักศึกษา เพื่อประท้วงเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือเหตุการณ์รัฐประหาร 14 พฤษภาทมิฬ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ มานำเสนอในแบบฉบับใหม่ที่ไม่ได้มีอยู่ในตำราเรียน โดยถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะเชิงความคิดชุด “ห้องเรียนประวัติศาสตร์” ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับผลงาน เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการแนวคิดต่างๆ จากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน

a2.png

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ถนนราชดำเนิน), 2543

สุธีได้ศึกษาและสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย แล้วหยิบยกเรื่องราวเหล่านั้นมานำเสนอผ่านสื่อโต๊ะเรียนไม้ที่แกะเป็นภาพและตัวอักษร เรื่องราวประวัติศาสตร์ต้องห้าม โดยอ้างอิงข้อมูลจาก 6 เหตุการณ์ ได้แก่ กลุ่ม ร.ศ.103 สมัยรัชกาลที่ 5 นายเทียนวรรณ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 การเมืองยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย  14  ตุลา 16 และ 6  ตุลา 19 มาจนถึง 14 พฤษภาทมิฬ 2535  โดยจัดวางโต๊ะนักเรียนเหล่านั้นในลักษณะเหมือนห้องเรียน และนำไปติดตั้งจัดวางในหลายพื้นที่ แต่ครั้งที่น่าจดจำที่สุด คือการนำโต๊ะนักเรียนไปติดตั้งบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ถนนราชดำเนินกลาง) ในนิทรรศการศิลปกรรมกลางแจ้ง ประชาธิปไตยในแง่งาม ซึ่งเป็นการจัดวางบนพื้นที่เฉพาะ ที่เป็นอนุสรณ์แห่งประวัติศาสตร์การเมือง ในระหว่างวันที่ 1 – 74 พฤษภาคม 2543 เนื่องในโอกาสฉลอง 100 ปี ปรีดี พนมยงค์  โดยผู้เข้าชมนิทรรศการสามารถมีส่วนร่วม ด้วยการนำกระดาษมาฝนด้วยสีสันต่างๆ ปรากฏออกมาเป็นภาพการบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยตนเอง ภาพที่ออกมานั้นจะแตกต่างกันไปตามลักษณะและจังหวะ การผสมผสานสี หรือจัดองค์ประกอบแบบใหม่ สามารถเก็บเป็นที่ระลึกได้ และเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิรูปทางการเมืองในขณะเดียวกัน  ผู้ชมสามารถเรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยได้เรียนจากในห้องเรียนจริง และสามารถแชร์ความคิดในหลายแง่มุม นำไปต่อยอดจากความรู้เดิมที่มี

และในครั้งนี้ผลงานชุดนี้ได้นำกลับมาเสนออีกครั้งในนิทรรศการที่มีชื่อว่า “Lender to Learner” โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมในปัจจุบันได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่อยู่นอกเหนือจากในตำราหรือในห้องเรียน  ด้วยหวังว่าผลงานชุดนี้จะเป็นเสมือนกระบอกเสียงหนึ่งที่ร่วมสื่อสารความคิดเห็นทางการเมืองผ่านผลงานศิลปะ ด้วยการกระตุ้นเตือนให้ระลึกถึงเรื่องราวในอดีตที่มักจะหวนกลับมา เผื่อเราจะร่วมกันค้นหาทางออกได้ว่า ทำอย่างไรประวัติศาสตร์จึงจะไม่ซ้ำรอย

IMG_1734.JPG

สุธี คุณาวิชยานนท์, ภาพแกะสลักโต๊ะที่ 12 วันที่ 16 ตุลา 19, ห้องเรียนประวัติศาสตร์(ถนนราชดำเนิน), 2543

IMG_1732.JPG

สุธี คุณาวิชยานนท์, ภาพแกะสลักโต๊ะที่ 17, ห้องเรียนประวัติศาสตร์ (ถนนราชดำเนิน), 2543

© 2018 by ART THEORY SILPAKORN UNIVERSITY

Tel: 034-271379 | Fax: 

bottom of page