top of page

ห้องเรียนเคลื่อนที่ของสุธี

a1.jpg
pink_edited.png

Apichaya Soisawing

อภิชญา สร้อยสวิง

นักเล่ากระจกเงา

“ ประชาธิปไตยเป็นของประชาชนทุกคน และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมเท่าเทียมกัน ”

หนึ่งคำบอกเล่าที่ปลูกฝังจากความทรงจำในอดีต แม้ปัจจุบันความหมายแท้จริงของนิยามนั้นจะค่อยๆ หักเหไปตามกาลเวลา เป็นเวลา 80 กว่าปีหลังปฏิวัติสยามที่คนไทยเข้าใจความหมาย "ประชาธิปไตย" พร้อมสร้าง "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกของคณะราษฎร และกลายเป็นหมุดหมายของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกยุค  ในปัจจุบันความหักเหของประชาธิปไตยได้ทวีความเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏการณ์ความแตกแยกอันเกิดจากความคิดต่างปรากฏให้เห็นผ่านสื่อต่างๆ มากมาย  เรื่องราวประวัติศาสตร์ทางการเมืองในอดีตจึงถูกสังคมหยิบยกมาวิเคราะห์ เพื่อเชื่อมโยงกับปัจจุบัน 

สุธี คุณาวิชยานนท์ ศิลปินผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการทำงานศิลปะสะท้อนสังคม วัฒนธรรม และการเมือง เขามีความสนใจในเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ดังเช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งนักศึกษาและประชาชนชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร  เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 การชุมนุมเพื่อปฏิเสธการสืบทอดอำนาจของผู้นำรัฐประหารขณะนั้น  จุดกระแสปฏิรูปการเมืองใหม่ จนนำไปสู่การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ถูกขนานนามว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เป็นต้น สุธีเป็นดั่งผู้สังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ด้วยความเชื่อที่ว่า “ประชาธิปไตยและการเมืองเป็นเรื่องของสังคม เป็นหน้าที่ของเราทุกคน และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น”

แรงบันดาลใจเหล่านี้ทำให้สุธีศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์การเมืองอย่างจริงจัง จากความรู้ที่ไม่ได้ระบุอยู่ในตำราเรียนทั่วไป แต่เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ที่อ้างอิงจากงานวิจัยที่นำเสนอข้อมูลด้านการเมืองโดยเฉพาะ รวมถึงภาพข่าวสารต่างๆ จากสื่อสิ่งพิมพ์ สุธีได้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และตกผลึกข้อมูลที่ได้ออกมาเป็นผลงานศิลปะเผยแพร่ต่อสาธารณะในปี พ.ศ.2543 เพื่อร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปกรรม 100 ปี ชาตกาล ของนายปรีดี พนมยงค์  ในหัวข้อ “ประชาธิปไตยในแง่งาม” สุธีนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองจำลองเป็นภาพเหตุการณ์ที่กำหนด ภายใต้ผลงานที่มีชื่อว่า “ History Class | ห้องเรียนประวัติศาสตร์ ” (ถนนราชดำเนิน)

a2.png

สุธี คุณาวิชยานนท์, History Class | ห้องเรียนประวัติศาสตร์ (ถนนราชดำเนิน), 2543, โต๊ะและเก้าอี้นักเรียน 14 ชุด, แกะสลักไม้, ดินสอ, สีไม้, ขนาดหลากหลาย แปรผันไม่แน่นอน, นิทรรศการศิลปกรรม ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์, 11-14 พฤษภาคม 2543, บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภาพจาก http://www.rama9art.org/sutee/09_history_class.html

ลักษณะการสร้างสรรค์ศิลปะในผลงานชุดนี้มีลักษณะในรูปแบบที่เรียกว่า ศิลปะแห่งการหยิบยืม (Appropriation Art ) ซึ่งเอกลักษณ์สำคัญของศิลปะรูปแบบนี้จะมาจากการสร้างงานใหม่ โดยนำเอา “ภาพ” หรือ “ภาพลักษณ์” ที่มีก่อนอยู่แล้วจากบริบทอื่นๆ เช่น ประวัติศาสตร์ศิลป์ โฆษณา และสื่อต่างๆ มาสร้างสรรค์นำเสนอในบริบทใหม่  โดยผลงานของสุธีได้หยิบยืมข้อมูลประวัติศาสตร์การเมือง โดยอาศัยภาพลักษณ์จากบันทึก และสื่อต่างๆ ที่นำเสนอภาพจำจากเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มานำเสนอใหม่ในลักษณะของห้องเรียน ซึ่งมีโต๊ะและเก้าอี้ที่ทำด้วยไม้จำนวน 14 ชุด จัดเรียงเป็นแถวต่อกัน  ให้ความรู้สึกเสมือนว่าพื้นที่เหล่านี้ได้กลายเป็นห้องเรียนเคลื่อนที่ และในตอนนี้ก็ได้ตั้งอยู่ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ถนนราชดำเนิน) พื้นที่ของหมุดศูนย์รวมประวัติศาสตร์ทางการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้เมื่อผู้ชมได้เข้ามาอยู่พื้นที่นี้จึงเกิดความรู้สึกเหมือนได้เข้ามาอยู่ในห้องเรียนประวัติศาสตร์อีกครั้ง และย้อนกลับมาเป็นผู้เรียนที่กำลังเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ค้นหาความเป็นมาหรือความจริงของพื้นที่นั้นๆ นอกจากนี้ผู้ชมสามารถมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผลงานได้ โดยสุธีเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เรียนรู้ และตีความผ่านข้อมูลจากสื่อที่นำเสนอ  ประกอบด้วยเนื้อหาข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองที่มีเรื่องราวความเคลื่อนไหวของ กลุ่ม ร.ศ.103 สมัยรัชกาลที่ 5  นายเทียนวรรณ  การเปลี่ยนแปลงในวันที่ 24 มิถุนายน 2475  การเมืองยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย  14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 มาจนถึงพฤษภาทมิฬ 2535 พร้อมนำเสนอในรูปแบบภาพและอักษรอย่างง่ายที่แกะสลักลงบนโต๊ะเรียน พร้อมมีกระดาษและดินสอให้กับผู้ชม คนละ 1 ชุด ซึ่งผู้ชมจะสามารถใช้ทำภาพพิมพ์อย่างง่ายได้ โดยการฝนรูปหรือข้อความที่อยู่บนผิวโต๊ะลงบนกระดาษได้ตามที่ต้องการ เพื่อเป็นของที่ระลึก และเพื่อให้ผู้ชมได้แบบเรียนจากห้องเรียนประวัติศาสตร์ของตนเอง

a1.jpg

สุธี คุณาวิชยานนท์, ภาพแกะสลักโต๊ะที่ 17, ห้องเรียนประวัติศาสตร์ (ถนนราชดำเนิน)ภาพจาก http://www.rama9art.org/sutee/09_history_class.html

a3.jpg

สุธี คุณาวิชยานนท์, ภาพพิมพ์จากโต๊ะที่ 12, วันที่ 6 ตุลา 2519 

ภาพจาก http://www.rama9art.org/sutee/09_history_class.html

ด้วยเหตุนี้ ผลงาน “History Class ห้องเรียนประวัติศาสตร์” ของสุธี  คุณาวิชยานนท์ จึงเป็นหนึ่งในผลงานศิลปะชิ้นสำคัญ ซึ่งเลี่ยงที่จะกล่าวถึงไม่ได้เมื่อพูดถึงประเด็นทางการเมืองไทย ประชาธิปไตย กับการสร้างสรรค์ทางศิลปะ  เนื่องจากได้สร้างแง่คิด เกิดประโยชน์ต่อคนในสังคม  และเอกลักษณ์ความโดดเด่นจากรูปแบบการนำเสนอผลงาน ที่มีการแสดงออกโดยอาศัยหลักการสร้างสรรค์ศิลปะแห่งการหยิบยืม จากองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมือง บวกกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ระบบการเมืองไทยที่หักเห จึงเกิดการนำผลงานชิ้นนี้กลับมาทบทวน และจัดแสดงสู่ประชาชนในยุคปัจจุบันอีกครั้ง ภายใต้ชื่อนิทรรศการที่มีชื่อนิทรรศการ “Lender to Learner| จากผู้หยิบยืม สู่ผู้เรียนรู้ ” จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่รวมถึงผู้สนใจเกิดความเข้าใจรูปแบบกระบวนการเรียนรู้จากทฤษฎีสู่การสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะ ผ่านการนำเสนอและตีความโดยกลุ่มนักศึกษาผู้จัดทำนิทรรศการ ที่นำเสนอข้อมูลในรูปแบบของตนเองต่อยอดจากแนวคิดของศิลปิน  ผู้เขียนจึงมีความเชื่อว่านิทรรศการครั้งนี้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ศิลปะกับผู้สนใจ และเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่จะยืนหยัดแนวคิดที่ว่า

“ ประชาธิปไตยไทยที่หักเหจะกลับมาสู่ความเที่ยงตรง และจะเป็นของประชาชนอีกครั้ง ”

© 2018 by ART THEORY SILPAKORN UNIVERSITY

Tel: 034-271379 | Fax: 

bottom of page